จับเท็จ “ลุงพล-ป้าแต๋น” ตอบคำถามคดีน้องชมพู่

ตำรวจพิสูจน์หลักฐานนำตัว ลุงพล-ป้าแต๋น  เข้าเครื่องจับเท็จคดีน้องชมพู นานกว่า 10  ชั่วโมง ด้านรอง ผบช.สพฐ.เผยทั้งคู่ไม่เครียด ทุกขั้นตอนผ่านไปด้วยดี คาด 30 วันรู้ผล

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2564 ตำรวจพิสูจน์หลักฐานเชิญตัวนายไชยพล วิภา หรือลุงพล และนางสมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น  ลุงและป้าของน้องชมพู มาเข้ากระบวนการใช้เครื่องจับเท็จ เพื่อพิสูจน์ครวมบริสุทธิ์ในคดี น้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่เสียชีวิตอย่างเงื่อนงำ บนภูเหล็กไฟ ที่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร 

โดยก่อนหน้านี้ตำรวจได้นำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีน้องชมพูมาซักถามและเข้าสู่กระบวนการใช้เครื่องจับเท็จเช่นเดียวกับลุงพล-ป้าแต๋น ซึ่งเริ่มจากน้องสะดิ้งพี่สาวน้องชมพูเป็นคนแรก ใช้เวลาในการซักถามประมาณ 1 ชั่วโมง น้องสะดิ้งนั้นไม่ได้เข้าเครื่องจับเท็จเนื่องจากยังเด็กอยู่ จากนั้นถึงคิวของนายอนามัย พ่อของน้องชมพู ใช้เวลาไป 3 ชั่วโมง ในช่วงบ่าย นางสาวิตรี แม่ของน้องชมพู เป็นคนที่สามที่ได้เข้าห้องซักถามแล้วเข้าเครื่องจับเท็จ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ส่วนคนที่ 4-7 ได้เข้าให้การซักถามในวันที่ 6-7 มกราคม 2564 ตามลำดับ ซึ่งแต่ละคนใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

       

ทั้งนี้ ลุงพลและป้าแต๋น ได้เดินทางมาถึงที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่เวลา 9.30 น.และ เข้ากระบวนการตั้งแต่เวลา 11.00 น.โดยป้าแต๋น เริ่มเป็นคนแรก แล้วเสร็จในช่วงเวลา 14.00 น. ต่อด้วยลุงพลในช่วงเวลา 15.00 น.ยาวไปจนถึงช่วงกลางคืน ใช้เวลาเข้ากระบวนทั้งหมดเกือบ 12 ชั่วโมง ก่อนที่ตำรวจจะปล่อยตัวทั้งสองคนออกมา

 

ลุงพล เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ไม่ได้รู้สึกกังวล หรือหนักใจอะไรทั้งสิ้น ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ทุกอย่าง และเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้กดดันอะไร โดยกระบวนการคือ มีเจ้าหน้าที่ 4 ถึง 5 คน ติดเครื่องวัดชีพจร หากมีการโกหก กราฟก็จะมีความปกติ จากนั้นเจ้าหน้าที่ ก็ได้ถามคำถามที่วนไปวนมาในประโยคเดิมๆ และตนเองก็สามารถตอบได้แค่ใช่หรือไม่ใช่ เท่านั้น ไม่สามารถอธิบายอย่างอื่นได้ คำถามมีไม่เกิน 10 คำถาม แต่ตนเอง ก็จำไม่ค่อยได้ เพราะมีการถามวนไปวนมาหลายรอบ

 

ตนเอง ไม่รู้ว่าเครื่องจับเท็จ มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน แต่ตนเองก็ตอบทุกอย่างไปตามความเป็นจริง และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ ทำงานอย่างรอบคอบ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนตัวมองว่า การเข้าเครื่องจับเท็จในวันนี้ อาจจะช้าไป เพราะถ้าเป็นช่วงแรก อาจจะจับพิรุธได้ดีและมากกว่านี้ อยากให้ทุกคนที่ติดตามข่าวน้องชมพู่ ต้องดูข่าวให้รอบคอบ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ตนเองขอยืนยันคำเดิมว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของน้องชมพู่ และเมื่อพูดถึงหลานสาว ก็รู้สึกเสียใจจนอยากจะร้องไห้ทุกครั้ง พร้อมเรียกร้องให้คนที่ทำให้หลานของตัวเองเสียชีวิต ออกมาแสดงความรับผิดชอบ และเข้ามอบตัว เชื่อว่าจะไม่ถูกลงโทษ ถึงขั้นประหารชีวิต

 

ด้าน ป้าแต๋น เปิดเผยว่า การเข้าเครื่องจับเท็จในครั้งนี้ ทำให้นึกถึงบรรยากาศเดิมๆ รู้สึกเหมือนถูกสอบปากคำเหมือนเดิม แล้วก็ถูกถามคำถามเดิมๆ ซึ่งแต่ละคำถามทำให้ตนเอง และสามี คิดถึงหลานสาวมากขึ้นไปอีก ส่วนกระบวนการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ให้ตนเอง และสามีเซ็นชื่อบนเอกสาร ในฐานะพยาน เมื่อเสร็จสิ้นขบวนการ ยอมรับว่ารู้สึกโล่งอก และไม่ได้รู้สึกเครียดหรือกังวลใจใด และเจ้าหน้าที่เองก็ทำตามหน้าที่ทุกอย่าง

 

ส่วนบรรยากาศโดยรอบบริเวณศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 เมื่อวานนี้ มียูทูปเบอร์จำนวนมาก ที่เป็นแฟนคลับของลุงพล ได้มาไลฟ์บรรยากาศ ให้แฟนคลับคนอื่นๆ ได้รับชมบรรยากาศตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ ยังมีแฟนคลับลุงพล จากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปทุมธานี เป็นจำนวนมาก ได้สั่งดอกกุหลาบมามอบให้กับลุงพลและป้าแต๋น พร้อมตะโกนให้กำลังใจว่าสู้ๆ ซึ่งลุงพล และป้าแต๋น ได้รับดอกกุหลาบเอาไว้ จากนั้นทั้งคู่ก็ได้ขึ้นรถยนต์เดินทางกลับบ้านกกกอก ที่จังหวัดมุกดาหารทันที

 

ขณะที่ พลตำรวจตรีสันติ์ สุขวัจน์ รองผู้บังคับการ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เปิดเผยว่า การนำลุงพล และป้าแต๋น เข้าเครื่องจับเท็จนั้น ไม่ใช่การชี้ขาดว่าใครคือคนร้าย ฆาตกรรมน้องชมพู่ แต่เป็นหนึ่งในกระบวนการสอบสวน และเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานที่จะใช้ประกอบสำนวนคดีนี้ ส่วนสาเหตุที่ ตำรวจเชิญคนในครอบครัวของน้องชมพู่ ให้มาเข้าเครื่องจับเท็จ เนื่องจากเป็นบุคคลใกล้ชิดที่สามารถเข้าถึงตัวน้องชมพู่ได้ง่าย โดยที่เด็กไม่ร้องหรือต่อต้าน โดยก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคมที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีและมีความใกล้ชิดกับ “น้องชมพู่” มาเข้าสู่กระบวนการเข้าเครื่องจับเท็จแล้ว ทั้งหมด 7 คนประกอบด้วย “น้องสะดิ้ง” พี่สาวน้องชมพู่ นายอนามัย กับนางสาวิตรี พ่อแม่น้องชมพู่ นางจุไรภรณ์” หรือ น้าต่าย นายเสริม น้าเขย นายนรินทร์ หรือ น้าแต และนางสาวสายฝน หรือ ฝน

 

สำหรับการทำงานของเครื่องจับเท็จนั้น จะเริ่มจากการซักถามประวัติของบุคคล ก่อนจะอ่านคำถามในการเข้าเครื่องจับเท็จให้ฟัง พร้อมกับสร้างความคุ้นเคยของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่เข้าเครื่องจับเท็จ ซึ่งในครั้งนี้ก็คือลุงพลกับป้าแต๋น หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เพื่อวัดคลื่นหัวใจและความดัน ขั้นตอนนี้ ถ้าหากมีการโกหก แม้ร่างกายภายนอกจะดูปกติ แต่ปฏิกิริยาภายในจะแสดงมาในรูปแบบกราฟ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญ ก็จะนำกราฟวิเคราะห์ ก่อนสรุปผลส่งให้พนักงานสอบสวนภายใน 30 วัน เพื่อประกอบในสำนวนคดี ส่วนศาลจะรับฟังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ.

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ช่องวัน 31