วัคซีนโควิด ของไทย เมื่อไหร่จะพร้อมใช้งาน

หลายๆ ประเทศในโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิดกันบ้างแล้ว และสำหรับประเทศไทยยังคงต้องลุ้นว่าจะได้รับวัคซีนลอตพิเศษ จำนวน 2 ล้านโดส ประมาณช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้หรือไม่ และสำหรับคำถามที่ทุกคนอยากทราบก็คือ เราจำเป็นที่จะต้องฉีดกี่เข็ม จึงจะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ และได้ผลกี่เปอร์เซ็น

 

จากคำถามในหลายประเด็น ทาง “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือไบโอเทค ในฐานะนักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ระบุว่า ช่วงนี้มีประเด็นร้อนถกเถียงกันในวงวิชาการ เกี่ยวกับการใช้ “วัคซีนโควิด” ในช่วงวัคซีนขาดแคลน สำนักงานที่ดูแลการใช้วัคซีนในประเทศอังกฤษได้แถลงออกมาว่า วัคซีน 2 ชนิดที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้คือ แอสตราเซเนกา-ออกซ์ฟอร์ด (AstraZeneca-Oxford) เรียกสั้นๆ ว่า AZ และไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) สามารถขยายเวลาให้เข็มที่ 2 ได้ยาวกว่าที่ทางบริษัทกำหนด โดยเฉพาะตัวของ AZ ซึ่งกำลังจะมีใช้ในประเทศไทยเร็วๆ นี้ สามารถให้รอเข็มที่ 2 ได้นานถึง 12 สัปดาห์

 
 

“สมมติ วัคซีนที่จะมาก่อน 2 ล้านโดส ให้ใช้ฉีดเข็มแรกให้หมด และอีก 3 เดือนเมื่อวัคซีนลอตใหม่มา สามารถนำมาใช้ฉีดยังทัน วิธีนี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนเป็น 2 เท่า โดยที่มาที่ไปเกิดจากผลการทดสอบของ AZ ที่เปิดเผยออกมา ทำให้นักวิชาการบางท่านคิดว่าถ้าปล่อยให้ช่องว่างระหว่างโดสมันยาวขึ้น อาจจะทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น

 

ขอเล่าสั้นๆ เกี่ยวกับการทดสอบของ AZ แรกเริ่มทีมวิจัยตั้งใจจะใช้วัคซีนแบบโดสเดียว และได้ทำการออกแบบการทดสอบไปแล้ว และมาเปลี่ยนใจเพิ่มเป็นแบบ 2 โดสภายหลัง นั่นหมายความว่า กว่าจะตัดสินใจเปลี่ยนเป็นทดสอบ 2 โดส มีอาสาสมัครเป็นพันคนได้โดสแรกไปแล้วเป็นเดือน โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อายุน้อย”

 

 

เมื่อเริ่มเปลี่ยนเป็นทดสอบ 2 โดส จะมีอาสาสมัครสูงอายุเริ่มเข้ามา และถ้าจำกันได้ข่าวของ AZ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าบริษัทมีความผิดพลาดในการวัดปริมาณของวัคซีน ทำให้กลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนไปประมาณ 1,400 คน ซึ่งจริงๆ แล้วได้วัคซีนไปแค่ครึ่งเดียว (LD) พอได้เข็มที่ 2 กลุ่มนี้จึงกลายเป็นกลุ่มที่ได้ครึ่งโดส และเต็มโดส (LD/SD) และเป็นกลุ่มที่อายุน้อยๆ ทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่ได้เต็มโดสสองเข็ม (SD/SD) ประมาณ 2,400 คน มีคนสูงอายุกว่า 55 คน ประมาณ 20% รวมสองกลุ่มเข้าด้วยกัน จะมีกลุ่ม 42% ของกลุ่มอายุน้อยที่ได้รับครึ่งโดส และเต็มโดส (LD/SD) และเป็นกลุ่มที่ได้วัคซีนระหว่างโดสยาวนานกว่าปกติตามเหตุผลข้างต้น

 

ต่อมามีผลของประสิทธิผลของวัคซีนที่รายงานออกมาพบว่า กลุ่มที่ได้เต็มโดสสองเข็ม ได้แค่ 60% แต่กลุ่มได้รับครึ่งโดส และเต็มโดส ได้มากถึง 90% ประเด็นที่ไม่ชัดเจนคือ ความแตกต่างของตัวเลขนี้เกิดจากโดสที่ไม่เท่ากัน หรือระยะเวลาที่ให้วัคซีนระหว่างโดสต่างกัน ส่วนเรื่องของอายุอาจจะไม่ใช่ เนื่องจากกลุ่มอายุน้อยที่ได้เต็มโดสสองเข็ม มีค่าประสิทธิผลแค่ 59%

 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบอกว่า กลุ่มได้รับเต็มโดสสองเข็ม ที่ได้วัคซีนห่างกัน 8 อาทิตย์ ยังมีประสิทธิผลของวัคซีนน้อยกว่าได้รับครึ่งโดสและเต็มโดสอยู่ดี คือ 65.6% กับ 90% แสดงว่าปริมาณของโดสอาจจะเป็นประเด็น และระยะที่ห่างกันระหว่างโดสก็ไม่มีผล ทำให้วัคซีนแย่ลง แต่วัคซีน AZ ที่ได้รับอนุมัติให้ฉีดเป็นแบบเต็มโดสสองเข็มเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ว่ายังไม่ชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ว่าทำไมถึงต่างกัน

 

“ข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้คือ เข็มแรกของ AZ น่าจะช่วยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ แต่ข้อมูลยังมีน้อยที่จะฟันธงได้ว่าป้องกันได้มากน้อยขนาดไหน ประเด็นที่ออกมาเป็นแนวปฏิบัติขึ้นมา คือการเพิ่มเวลาระหว่างโดสให้นานขึ้น ไม่ได้มีผลต่อค่าประสิทธิผลของวัคซีน ทำให้มีความคิดว่า ฉีดเข็มเดียวแล้วรอเข็มสองนานหน่อยได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ประเด็นสำคัญที่อยากเน้นคือ เข็มสองต้องมาจริงๆ เพราะถ้าไม่มาจะเป็นปัญหาได้”

 

ส่วนทำไมวัคซีนเข็มที่สองของ AZ ถึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้วัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถใช้ป้องกันอาการรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุดก่อน และให้เวลาการผลิตเพิ่มอีกประมาณ 12 อาทิตย์ หรือ 3 เดือน เพื่อฉีดเข็มที่สอง ประเด็นเรื่องการเว้นระยะให้ยาวนานขึ้น ทางฝั่งของ AZ ดูเหมือนจะมีข้อมูลจากการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ที่บ่งชี้ว่า ถ้าเว้นระยะห่างนานขึ้นประสิทธิภาพของวัคซีนในการกระตุ้นแอนติบอดีหลังฉีดเข็มสองจะดีขึ้น

 

ทั้งนี้ในบริบทของประเทศผู้ผลิตวัคซีนอย่างประเทศอังกฤษ สามารถกำหนดการเพิ่มลดระยะเวลาการให้วัคซีนเข็มที่สองได้ แต่สำหรับประเทศไทย ซึ่งพึ่งพาการผลิตและส่งวัคซีนมาให้จากต่างประเทศ หรืออย่างน้อยในระยะเวลาอันใกล้นี้ มีความไม่แน่นอนของการได้รับวัคซีนมาให้ทันกำหนดเวลา จึงเป็นความเสี่ยง โดยประเด็นที่กังวลไม่ได้อยู่ที่จะฉีดเข็มที่สองช้าหรือไว แต่เป็นประเด็นที่เข็มที่สองจะไม่ได้ฉีดครบทุกคน ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

 

 

สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เป็นการทำให้ร่างกายเห็นแอนติเจนเป้าหมายครั้งแรก ซึ่งคือโปรตีนสไปค์ของไวรัสโควิด ร่างกายจะเริ่มสร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจนนั้น โดยเซลล์ที่เรียกว่า B cell แต่จะสร้างแอนติบอดีได้ปริมาณไม่มาก ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ดี คือจับกับแอนติเจนไม่แน่น และที่สำคัญจะอยู่กับเราไม่นาน แต่ถ้าร่างกายได้รับเข็มที่สอง หรือเข็มที่สาม จะถูกกระตุ้นซ้ำ ทำให้สร้างแอนติบอดีออกมามากขึ้น ที่สำคัญความสามารถในการจับกับแอนติเจน หรือตัวไวรัส จะแน่นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ในระดับ 100-1,000 เท่า โดยทางวิชาการเรียกกระบวนการนี้ว่า “Affinity maturation” ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญ ช่วยให้แอนติบอดีที่กระตุ้นด้วยวัคซีนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

ประเด็นที่สำคัญในการได้รับวัคซีนเพียงเข็มเดียว จะเป็นการสร้างแอนติบอดีแบบอ่อนๆ ให้กับร่างกายจับกับไวรัสได้แบบไม่แน่น ไวรัสสามารถหลีกหนีกระบวนการทำงานของแอนติบอดีได้ง่าย มีความเป็นไปได้สูงว่าไวรัสจะเปลี่ยนแปลงตัวเองหนีภูมิดังกล่าวออกไป จนกลายเป็นสายพันธุ์ที่แอนติบอดีจับไม่ได้อีกต่อไป แม้แต่แอนติบอดีที่จะเพิ่มความสามารถในการจับด้วยการฉีดเข็มซ้ำแล้วก็ตาม

 

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ อาจจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ สร้างแอนติบอดีได้ไม่ดี ทำให้ไวรัสเปลี่ยนตัวเองหนีภูมิคุ้มกันได้ง่าย คิดง่ายๆ ว่า วัคซีนคล้ายๆ กับยาปฏิชีวนะ ถ้าจะใช้ต้องกินให้ครบ มิฉะนั้นเสี่ยงได้เชื้อดื้อยาได้ ถ้าใครได้ฉีดแล้วต้องมั่นใจว่าต้องได้เข็มที่สอง”.

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ