สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ชี้แจง กรณี เด็กหญิง 12 ปี เข้าไอซียู หลังฉีดไฟเซอร์

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แถลงกรณี เด็กหญิง 12 ปี เข้าไอซียูหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรกแล้วมีอาการ ไอมากขึ้น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ตัวเขียว ซึ่งอาการของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

 

จากกรณี  นักเรียนหญิง ป.6 อายุ 12 ปี ชาวโพธาราม ราชบุรี ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก 7 วัน ป่วย อาการทรุดหนักจนต้องเข้าไอซียู หมอเผยเกิดลิ่มเลือดอุดขั้วหัวใจ 2 ขั้ว เป็นเคสใหม่ ไม่เคยพบมาก่อน ล่าสุด สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  ออกชี้แจงกรณีดังกล่าวตามลำดับการรักษา คือ 

สืบเนื่องจากผู้ป่วยเด็กหญิงไทย อายุ 12 ปี 3 เดือน ได้รับการส่งตัวจาก รพ.ราชบุรี เมื่อวันอังคารที่ 26 ต.ค. 2564 ด้วยเรื่องไอ เจ็บกลางหน้าอก เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2564

 

แจงเคส ด.ญ. อายุ 12 เข้าไอซียู หลังฉีดไฟเซอร์ ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

จากนั้นวันต่อมามีอาการ ไอมากขึ้น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ตัวเขียว ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.ราชบุรี ในวันที่ 25 ต.ค.2564 ได้รับการรักษาโดยการให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ให้ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ

 

ต่อมาผู้ป่วยยังมี อาการหายใจเหนื่อย จึงใส่ท่อหายใจและส่งตัวผู้ป่วยมาตรวจรักษาต่อที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในวันอังคารที่ 26 ต.ค. 2564

 

โดยประวัติอดีตที่สอบถามจากบิดา มารดา พบว่า ผู้ป่วยมีภาวะหลังโก่งและคดสังเกตเห็นตั้งแต่อายุ 9 เดือนแต่ไม่เคยรักษาที่ใดมาก่อน และมีประวัติเหนื่อยง่ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ไม่เคยพบแพทย์มาก่อน

 

จากการตรวจร่างกายที่สถาบันฯ พบว่า เด็กตัวเล็กและเตี้ยกว่าเกณฑ์มาก มีหลังคดโก่งรุนแรงและมีนิ้วปุ้มซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะปอดขยายตัวไม่เต็มที่และมีพังผืดในปอดได้

 
 

จากการตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง พบว่า การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี ไม่มีสิ่งที่บ่งชี้ถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และพบการอุดตันของหลอดเลือดแดงปอด จึงตรวจหัวใจเพิ่มเติมด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดและพบว่าถุงลมในปอดขยายได้ไม่เต็มที่ และบางบริเวณมีปอดแฟบ

 

ต่อมาผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (PICU) สถาบันฯ ระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค.2564  ได้รักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ดูแลทางเดินหายใจโดยขณะนี้สามารถถอดท่อทางเดินหายใจและเปลี่ยนมาให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ได้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. 2564 พบว่าก้อนลิ่มเลือดที่อุดตันมีขนาดเล็กลง เลือดไหลเวียนไปสู่ปอดได้ดีขึ้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี เมื่ออาการดีขึ้น ได้ย้ายผู้ป่วยเข้าดูแลในหอผู้ป่วยเด็กเฉพาะโรคในวันที่ 1 พ.ย.2564 ผู้ป่วยหอบเหนื่อยลดลง สามารถรับประทานอาหารได้

 

ทีมกุมารแพทย์หลากหลายสาขาของสถาบันฯ ทั้งด้านโรคหัวใจ โรคปอด โลหิตวิทยา โรคภูมิคุ้นกันได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างเต็มที่เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด ทั้งนี้ขอแจ้งให้ทราบว่าอาการของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

 

 

 

ขอบคุณ PPTV36/ไทยรัฐ