ราชกิจจาฯ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 40% ให้เฉพาะผู้ที่เซ็น MOU ประกอบไทย

ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงการคลัง ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา – ประเทศอื่นๆ จะเหลือภาษีนำเข้ามากที่สุด แค่ 40% แบบมีเงื่อนไข*  แต่ยังไม่มีการสรุปราคา

 

 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (หรือ รถยนต์ไฟฟ้า BEV 100%) นำเข้าทั้งคัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565

 

การลดภาษีนำเข้า หรือ ภาษีศุลกากร ของรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ของรัฐบาล ที่อุดหนุนเงิน 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% โดยมีเงื่อนไขที่บริษัทรถยนต์จะต้องมีการลงนามเซ็น MOU เพื่อประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ตามสัดส่วนที่รัฐกำหนด หากค่ายไหนไม่ได้เซ็น ก็จะไม่ได้ลดหย่อนอัตราภาษีแต่อย่างใดทั้งสิ้น รถยนต์ไฟฟ้าราคาแพงหลากหลายแบรนด์ของยุโรป ที่ไม่มีแผนประกอบในไทย ราคายังคงแพงแสบไส้เหมือนเดิม ส่วนแบรนด์ที่เซ็น MOU กับรัฐบาลไทยเรียบร้อยไปแล้วมีสามยี่ห้อ คือ MG / GWM / Toyota ล่าสุด แบรนด์สามห่วงเพิ่งจะลงนามตกลงใช้ไทยเป็นฐานการประกอบยานยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่น bZ4X คาดว่า รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวจะวางขายในไทยช่วงปลายปีนี้ 

 

สำหรับราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูป (หรือ รถยนต์ไฟฟ้า BEV 100%) นำเข้าทั้งคัน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 มีเนื้อหาดังนี้

ข้อ 2 (1) ลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 100% แบบนำเข้าทั้งคัน “ราคาจำหน่ายไม่เกิน 2 ล้านบาท” ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2566 (ประกาศมีผลย้อนหลัง)

นำเข้า CBU ได้รับสิทธิพิเศษความตกลงการค้าเสรี FTA เดิมชำระไม่เกิน 40% ให้เหลือ 0%
นำเข้า CBU ได้รับสิทธิพิเศษความตกลงการค้าเสรี FTA เดิมชำระมากกว่า 40% ให้ลดลงอีก 40%
นำเข้า CBU ไม่ได้รับสิทธิพิเศษความตกลงการค้าเสรี FTA ให้เหลือ 40%

ข้อ 2 (2) ลดอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 100% แบบนำเข้าทั้งคัน “ราคาจำหน่าย 2 ล้านบาท ขึ้นไป จนถึงไม่เกิน 7 ล้านบาท” ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2565 ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2566 (ประกาศมีผลย้อนหลัง)

 

นำเข้า CBU ได้รับสิทธิพิเศษความตกลงการค้าเสรี FTA เดิมชำระไม่เกิน 20% ให้เหลือ 0%
นำเข้า CBU ได้รับสิทธิพิเศษความตกลงการค้าเสรี FTA เดิมชำระมากกว่า 20% ให้ลดลงอีก 20%
นำเข้า CBU ไม่ได้รับสิทธิพิเศษความตกลงการค้าเสรี FTA ให้เหลือ 60%

 

 

ข้อมูลจาก autolifethailand.tv สรุปจากประกาศราชกิจจานุเบกษา มีใจความสำคัญว่า รถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา – ประเทศอื่นๆ จะเหลือภาษีนำเข้ามากที่สุด แค่ 40% แบบมีเงื่อนไข*

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่นำเข้าจากจีน เสียภาษีนำเข้า 0% อยู่แล้ว แต่หากต้องการได้รับส่วนลด 150,000 บาท นั้น ก็ต้องมีเงื่อนไข*

*เงื่อนไข ในที่นี้ หมายถึง ต้องเซ็น MOU เข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ของรัฐบาลไทย จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่นำเข้ามาได้รับส่วนลด 150,000 บาท + ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% จาก 8% เหลือ 2%

โดยมีข้อกำหนดว่า หากนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 100% มาขาย 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศให้ได้จำนวน 1 เท่า ภายในปี 2567 (2024) หรือ ขยายระยะเวลาเป็นภายในปี 2568 (2025) แต่ต้องผลิต 1.5 เท่า นั่นเอง

 

เพราะฉะนั้น TESLA ที่จำหน่ายโดยผู้นำเข้าอิสระ, BMW iX3 / iX / i4, Volvo XC40 EV / C40 EV, Audi e-tron GT / e-tron SUV / Sportback, Porsche Taycan และหรือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% แบรนด์อื่นๆ เมื่อไม่เซ็น MOU ก็จะไม่ได้สิทธิพิเศษตามประกาศนี้แต่อย่างใด

สำหรับค่ายรถยนต์ที่เซ็น MOU กับทางภาครัฐไปแล้ว มีด้วยกัน 3 แบรนด์ ดังนี้

Great Wall Motor : เซ็นเมื่อ 21 มีนาคม 2565
MG : เซ็นเมื่อ 21 มีนาคม 2565
Toyota : เซ็นเมื่อ 29 เมษายน 2565

การเปิดให้เซ็น MOU ของรัฐบาลไทย เพื่อทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่จับต้องได้ และจะถูกลงเมื่อมีการประกอบในประเทศ ถือเป็นการดึงดูดให้ค่ายรถยนต์เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ไม่ใช่นำเข้าจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และรักษา-เพิ่มอัตราการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย.