ยืนยันแล้ว ประเทศไทยพบโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ

หมอยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าประเทศไทยพบโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษแล้ว เป็นครอบครัวที่เดินทางมาจากประเทศอังกฤษ ทั้งหมดอยู่ในสถานกักตัวทางเลือก

 

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.64 เฟซบุ๊กเพจ ยง ภู่วรวรรณ ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความระบุใจความสำคัญว่า ขณะนี้ ประเทศไทยพบโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ กลายพันธุ์ หรือ เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7 แล้ว จากครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คนที่เดินทางเข้าประเทศไทย และอยู่ในสถานกักตัวทางเลือก โดยทางโรงพยาบาลเอกชน และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการควบคุมอย่างดีไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป 

 

 
 
 


ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดรหัสสายพันธุ์ พบเป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7” ได้ในประเทศไทย เป็นครอบครัวชาวอังกฤษ 4 คน พ่อ แม่ ลูก 2 คน ติดเชื้อทั้ง 4 คน โดยที่แม่และลูกเป็นก่อน พ่อเป็นทีหลัง มาจากเมือง Kent ประเทศอังกฤษ และอยู่ใน ASQ (Alternative State Quarantine) โรงพยาบาลเอกชนและเราควบคุมอย่างดีไม่ให้แพร่กระจายออกไป


.การถอดรหัสพันธุกรรมทำให้ทราบว่าสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ของอังกฤษกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก และมีการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรม 2 ราย มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งเกาะจับตัวรับของเซลล์มนุษย์ (N501Y) การกลายพันธุ์ที่จุดตัดของสไปค์โปรตีน (P681H) ตำแหน่งอื่นๆ ที่ขาดหายไป (Spike 69-70 Deletion) และตำแหน่งอื่นๆ อีกดังในรูป


.สายพันธุ์นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่ายและกระจายอย่างรวดเร็ว ในครอบครัวนี้ก็ติดหมดทั้ง 4 คน อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย สายพันธุ์นี้ไม่ได้ทำให้โรครุนแรงขึ้นและไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้ ผู้ป่วยทั้ง 4 รายนี้อยู่ในความควบคุมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้เชื้อหลุดรอดออกมาได้ ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลในห้องความดันลบและต้องมั่นใจว่าไม่มีเชื้อแล้ว จึงจะออกมา ดังนั้นโอกาสที่จะแพร่ขยายในประเทศไทยจึงไม่มี


.ผู้ที่มาจากประเทศอังกฤษมาประเทศไทยจะต้องเฝ้าระวัง ในรายที่มาจากต่างประเทศการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลจะเป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยหาแหล่งที่มาของโรค.

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ