วัคซีนใบยาสูบ สัญชาติไทย เตรียมทดสอบในมนุษย์

ความหวังใหม่ของคนไทย เพราะมีความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด สกัดจากโปรตีนพืชใบยาสูบ เตรียมทดสอบในมนุษย์

 

 

อีกหนึ่งความหวังของคนไทย กับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด สกัดจากโปรตีนพืชใบยาสูบ ซึ่งไม่เหมือนกับการผลิตวัคซีนชนิดอื่น โดยฝีมือทีมนักวิจัยไทย บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขณะนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่มิอาจทราบล่วงหน้าได้ ภายใต้งบประมาณมีจำกัด จำต้องขอรับเงินบริจาค สนับสนุนการทำงาน เตรียมเดินหน้าทดลองในมนุษย์ในเร็วๆ นี้

 

 

ข่าวดีที่จะเกิดขึ้นออกจากปาก “ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยให้จับตาจุดเปลี่ยน “วัคซีนใบยาสูบ” สัญชาติไทยตัวนี้ ตั้งแต่เดือนส.ค.เป็นต้นไป ในช่วงไตรมาส 3 ไปจนถึงไตรมาส 4 จะอวดโฉมให้เห็นประสิทธิภาพ สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ประหลาดๆ ได้อย่างครอบคลุม ทั้งสายพันธุ์อินเดีย แอฟริกา และบราซิล

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ อาจเป็นอีกหนึ่งความหวังสำคัญในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องต้นทุนที่ถูก เพราะผลิตจากใบพืช เมื่อปลูกได้มาก จะทำให้ปริมาณการผลิตวัคซีนมีเป็นจำนวนมาก สามารถผลิตนำมากระตุ้นภูมิได้เป็น 10 ล้านโดส ภายในระยะเวลาอันสั้น

 

 

“ไวรัสสายพันธุ์ประหลาดๆ อาจเล็ดลอดเข้ามาในไทยได้ และตอนนี้สิ่งที่ทำได้ ต้องพยายามถ่วงไวรัสสายพันธุ์เหล่านี้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะใน State Quarantine เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าจะแพร่เชื้อจากคนไทย สู่คนไทยเมื่อใด นั่นหมายความว่าต้องมีการตรวจหาเชื้อมหาศาล จากปกติตรวจหา 7-8 หมื่นคนต่อวันในทั่วประเทศ ทำให้บอกยากว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่”

 

เพราะฉะนั้นจะต้องตรวจอย่างละเอียด ซึ่งในอนาคตทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จะมีการตรวจหาโควิดอย่างง่าย โดยชุดใบยา ใช้เวลาเพียง 2 นาที สามารถบอกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ปกติ หรือสายพันธุ์ประหลาดที่เพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งวัคซีนโควิดธรรมดา คุมไม่อยู่ จะต้องวางแผนในการใช้วัคซีนที่มีอยู่ จากการบริหารจัดการ นำมาฉีดให้ประชาชนเพื่อซื้อเวลาไปก่อน เพราะอย่างไรแล้ว ไวรัสตัวประหลาดจะเล็ดลอดเข้ามาอย่างแน่นอน

 

 

กว่าจะถึงไตรมาส 3 หรือ 4 ในปีนี้ ก่อนที่วัคซีนใบยา จะมีการทดสอบกับมนุษย์ และสิ่งที่เจออาจทำให้วัคซีนได้ผลเท่าที่ควร แต่ขณะเดียวกันต้องจับตามองวัคซีนโควิดที่ได้ฉีดไปแล้วว่า เชื้อไวรัสโควิดตัวใหม่ก่อความรุนแรงหรือไม่ โดยตั้งแต่ปี 1960 พบว่าหน้าตาของเชื้อโควิดยังคงเดิม ซึ่งภูมิคุ้มกันที่สร้างมาจากวัคซีนใบยา พัฒนาตามพัฒนาการสายพันธุ์ไวรัส จะคุ้มกันได้ทั้งไวรัสตัวเก่าและตัวใหม่ แทนที่จะทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

 

“ตั้งแต่เดือนส.ค. วัคซีนใบยา จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ ในเฟสแรก เพื่อดูความปลอดภัย ดูความเข้มข้นของวัคซีน และดูความเปลี่ยนแปลงของคนที่ได้รับวัคซีน ก่อนเข้าสู่เฟส 2 และ 3 หากช่วงไตรมาส 3 ถึง 4 ไทยสามารถสยบโควิดได้ จะพอมีเวลาในการเตรียมวัคซีนตัวใหม่ ให้สามารถได้ใช้อย่างเหมาะสม คาดว่าไม่เกินปลายปีนี้ น่าจะได้ใช้วัคซีนตัวนี้”

 

ส่วนปริมาณการผลิตวัคซีนใบยา ขึ้นอยู่กับโรงงาน และการปลูกใบยาสูบ หากปลูกได้เป็นจำนวนมากๆ จะได้วัคซีนในปริมาณมากตาม เพราะต้นใบยาสามารถผลิตโปรตีนได้ใน 9 วัน ก่อนตัดทำเป็นน้ำ สกัดเป็นโปรตีนบริสุทธิ์สูงสุด เพื่อใช้ในมนุษย์ จากเดิมที่เคยทดลองในสัตว์ ซึ่งขณะนี้เรามีโรงงานแล้ว รวมถึงโรงงานบรรจุขวดโดยองค์การเภสัชกรรม โดยฝีมือคนไทย ทำเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ต้องยืมจมูกใครหายใจ

 

สำหรับวัคซีนใบยา มีการใช้กลยุทธ์เดียวกับการผลิตวัคซีนโนวาแวค ของสหรัฐฯ โดยมีความแตกต่างกันตรงที่วัคซีนโนวาแวค ใช้ระบบเซลล์ของแมลง ส่วนวัคซีนใบยา ทำจากเซลล์ใบพืช ซึ่งมีความปลอดภัยสูงสุด สามารถปรับเปลี่ยนพันธุกรรมไวรัสได้ แม้เป็นโปรตีนพืช แต่กระบวนการผลิตนั้นสุดไฮเทค คาดหวังว่าไม่เกินต้นปีหน้าจะเป็นวัคซีนใบยา เพื่อชาติ จะต้องเร่งพัฒนา แม้เงินทุนน้อย

 

 

“หากใครมีศรัทธา ให้มาช่วยกัน เพื่อเราจะมีวัคซีนของไทยแท้ที่ตอบโจทย์ กับการกลายพันธุ์ของโควิด ในการช่วยชาติ เพราะใกล้ได้ทดลองในมนุษย์แล้ว หลังตั้งไข่มานาน เป็นอีกความหวังสำคัญในอนาคต”.

 

 

 

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ