3 ฝาแฝดโรงเรียนดังสอบติดแพทย์มหิดล 

แฝดสามที่เพชรบุรี สอบติดแพทย์ชนบทโควตาม.มหิดล ทั้งสามคน พ่อแม่ปลื้มใจ เผยลูกๆ ตัดสินใจเลือกเรียนเอง

 

 

3 ฝาแฝดโรงเรียนดังสอบติดแพทย์มหิดล เปิดเผยขึ้นเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ “บลูแมนชั่น ท่ายาง” ถนนเลียบคลองชลประทานสายสาม ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นธุรกิจของครอบครัว 3 พี่น้องฝาแฝด นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนพรหมานุสรณ์ อ.เมืองเพชรบุรี สอบติดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โควตาทุนโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีการศึกษา 2564 กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชนคณะแพทยศาสตร์ พบนายไพโรจน์ เข็มกลัด อายุ 65 ปี น.ส.น้อย เกียรติมาพรศักดิ์ อายุ 58 ปี พ่อแม่ พร้อมนักเรียนฝาแฝดทั้ง 3 นายธนรัตน์ หรือปอนด์ เข็มกลัด พี่ชายคนโต นายธนารักษ์ หรือดอลลาร์ เข็มกลัด น้องคนรอง และนายธนพัฒน์ หรือมาร์ค เข็มกลัด น้องเล็ก อายุ 18 ปีเท่ากัน

 
 
 
 

นายธนรัตน์ เข็มกลัด พ่อกล่าวว่า ตนกับภรรยาเคยทำงานธนาคารศรีนคร ใน อ.ท่ายาง หลังลาออกมาเปิดร้านสะดวกซื้ออยู่ในตลาดท่ายาง ก่อนจะมาทำธุรกิจอพาร์ตเมนต์ “บลูแมนชั่น ท่ายาง” ส่วนบ้านที่พักอาศัยอยู่ในตลาดท่ายาง หมู่ 1 ต.ท่ายาง ตนกับภรรยามีลูกด้วยกัน 5 คน ลูกสาวคนโต รับราชการที่สำนักงาน สกสค.เพชรบุรี คนที่ 2 เป็นพนักงานธนาคารออมสิน เพชรบุรี ส่วนเรื่องการเรียนไม่เคยบังคับ ทั้งสามคนเลือกที่จะเรียนแพทย์กันเอง

 
 
 
 

น.ส.น้อย ผู้เป็นแม่ กล่าวเสริมว่า ลูกชายฝาแฝดทั้ง 3 คน เกิดจากการทำ “อิ๊กซี่” (ICSI) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว เพราะฝ่ายพ่อมีลูกยาก ซึ่งการทำอิ๊กซี่เป็นการกระตุ้นไข่ที่มีคุณภาพมากกว่า 1 ฟอง เคสของตนแพทย์เลือกไข่ 4 ฟอง เมื่อฉีดเชื้อที่คัดเลือกไว้ผสมติด 3 ฟอง จึงได้แฝดสามซึ่งเกิดจากไข่คนละฟองทำให้หน้าตาและส่วนสูงแตกต่างกัน ไม่ใช่แฝดเหมือน หรือแฝดคล้ายเช่นรายอื่นๆ ส่วนเรื่องการเรียนหนังสือ ก่อนหน้านี้อยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษให้เรียนศิลป์ภาษา แต่ต่อมาเขาสอบถามเรื่องการเกิดของเขาว่า เกิดจากวิธีการผสมเทียมหรือการทำอิ๊กซี่ ทำให้เริ่มสนใจเกี่ยวกับการแพทย์ เริ่มหันมาเรียนสายวิทย์ กระทั่งสอบติดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

 

นายธนพัฒน์ เข็มกลัด แฝดน้องเล็ก กล่าวว่า ดีใจมากที่สอบติดแพทย์รอบโควตา โดยคณะที่ติดคือโครงการกลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน ซึ่งเรียนร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะนี้พวกเราทั้ง 3 คน ยืนยันสิทธิที่จะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วทางเว็บไซต์ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย สำหรับการเรียนนั้น เราทั้ง 3 คนจะช่วยกันติวและมีเรียนพิเศษบ้าง นอกจากนี้ พวกเรายังเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการ ระดับประเทศ สาขาชีววิทยา ปี 2563 อีกด้วย สำหรับการเรียนในโครงการกลุ่มแพทย์เพื่อชุมชนนั้น ได้รับแจ้งมาว่า ปี 1 เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ปี 2-3 เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากนั้นปี 4-5-6 ไปเรียนระดับคลินิกที่โรงพยาบาลราชบุรี ความตั้งใจของพวกเราทั้ง 3 คน คืออยากกลับมาเป็นแพทย์ในจังหวัดเพชรบุรีบ้านเกิด และที่อยากเป็นแพทย์เพราะประทับใจอาชีพแพทย์ที่ได้ช่วยรักษาคนไข้

 

 

 

ส่วนนายธนรัตน์ เข็มกลัด แฝดพี่ กล่าวว่า ตนกับน้องทั้ง 2 คน เรียนห้องเดียวกันมาตลอด ทำให้สามารถปรึกษาหารือกันเรื่องการเรียนเสริมกันได้ การตัดสินใจต่างคนต่างคิดแต่มักจะคล้ายกัน พวกตนมีความตั้งใจเป็นหมอทำงานในโรงพยาบาลชนบท สมัครสอบชิงทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบท มีการยื่นเกรดเฉลี่ยรวม 5 เทอมในชั้น ม.ปลาย และทำการสอบข้อเขียน 7 วิชาสามัญและสอบผ่านข้อเขียนทั้ง 3 คน เข้ารับการสอบสัมภาษณ์เมื่อต้นเดือน พ.ค. และทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 10 พ.ค. หลังเรียนจบจะกลับมาเป็นหมอประจำโรงพยาบาลใน จ.เพชรบุรี รักษาคนไข้ในพื้นที่ชนบท เพราะเท่าที่ทราบว่าจำนวนแพทย์ในจังหวัดเพชรบุรียังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทางโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา ครูผู้สอนประจำรายวิชาได้ให้ความรู้ คำแนะนำและให้การสนับสนุนการสอบทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบทจนประสบความสำเร็จ

 

ด้านนายอรุณ สรรพคุณ ผอ.ร.ร.พรหมานุสรณ์ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด กล่าวด้วยความดีใจว่า นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่นักเรียน ร.ร.พรหมานุสรณ์ฯ สามารถสอบติดโควตาโครงการแพทย์เพื่อชนบทจำนวน 7 คน ได้แก่ น.ส.มัณฑนาพร สมานมิตร นายพิสิษฐ์ เตชนันท์ นายธนพัฒน์ เข็มกลัด นายธนารักษ์ เข็มกลัด นายธนรัตน์ เข็มกลัด นายพีรณัฐ แสงชาตรี และ น.ส.พาขวัญ ชมสายพลายงาม ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษาต่อในสาขาหรือคณะที่ตนเองต้องการ นอกจากนี้ การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เข้มข้นด้วยเนื้อหาสาระวิชาแล้ว ยังเสริมเทคนิคการทำข้อสอบ รวมถึงการแนะแนวให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาตามความถนัด ความต้องการ และคะแนนสอบของผู้เรียนอย่างเหมาะสม

 

 

 

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ