#1 ธันวาบอกลาเครื่องแบบ

โรงเรียนดังหลายแห่ง แห่แต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน เช่นสามเสน หอวัง เตรียมอุดมฯ  แต่ก็มีบางส่วนที่ใส่ชุดนักเรียนด้วย

 

Image

Image

 

จากกรณีภาคีนักเรียน KKC และกลุ่มนักเรียนเลว ประกาศเชิญชวนนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปเรียนในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนวันแรกของที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยืนยันว่าจะไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละโรงเรียนมีกฎระเบียบเรื่องการแต่งกายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ขอให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกมาย้ำให้โรงเรียนปฏิบัติตามระเบียบ

 

 

น้องเพกา นักเรียนชั้น ม.6 ตัวแทนนักเรียนเลว กล่าวว่า วันนี้ตนมาในรูปแบบของทรงผมสูงบังเพื่อน เพราะต้องการเสียดสี และสวมชุดไปรเวทมา เราไม่ได้แอนตี้การใส่ชุดนักเรียน แต่ไม่ชอบการบังคับหรือจำกัดสิทธิ์ของผู้อื่น ตนมองว่านักเรียนควรมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเราทุกคนก็ต้องเคารพสิทธิ์ของตัวเองและของคนอื่น นักเรียนมีสิทธิ์เลือกการแต่งกายของเขาเอง มันน่าจะเป็นผลดีของตัวเองมากกว่า

 

นักเรียนชายชั้น ม.5 รายหนึ่ง กล่าวว่า ตนมองว่าการใส่ชุดไปรเวตเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ เพราะเรื่องนี้มีความคิดเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งเรายังไม่รู้ความจริงจนกว่าจะได้ทดลอง เพราะถ้ายังไม่ทดลอง เราก็ยังจะถกเถียงกันแบบนี้ หลังจากที่ตนไปแลกเปลี่ยน เห็นหลายวัฒนธรรม เห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะความเหลื่อมล้ำอยู่ทุกที่ และการใส่ชุดไปรเวตทำให้เราบ่งบอกความเป็นตัวเองมากขึ้น ทั้งนี้ ในโลกความเป็นจริงทุกคนก็แต่งตัวต่างกันอยู่แล้ว และถ้าเราแต่งตัวต่างกันในสถานศึกษามากขึ้น ก็จะทำให้เราได้เผชิญกับความเป็นจริงเร็วขึ้น และทำให้ครูสอนนักเรียนเรื่องการทำตัวที่ดีต่อกัน แม้จะมีความแตกต่างเรืองชนชั้นฐานะก็ตาม

“การแต่งชุดนักเรียนมีข้อเสียคือเราจะถูกจำกัดอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของตัว การที่ถูกตีเข้าไปอยู่ในกรอบ ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นหุ่นยนต์ ผมรู้สึกว่าเป็นความคิดที่ล้าหลังอยู่พอสมควร การแต่งชุดนักเรียนอาจจะมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ผมมองว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น ถ้าโรงเรียนสนใจเริ่มทดลองบ้าง น่าจะเห็นผลลัพธ์ที่ตรงกัน ทั้งนี้ ทางโรงเรียนไม่ได้สั่งห้ามอะไร” นักเรียนชายกล่าว