รายชื่อ 12 ศิลปินแห่งชาติ ปี 2563

ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับรายชื่อบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 จำนวน 3 สาขา รวม 12 ราย

 

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยในที่ประชุมได้มีวาระการพิจารณาการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563



ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ได้แถลงข่าวผ่านช่องทาง เฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 จำนวน 3 สาขา รวม 12 ราย ดังนี้

 

สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 ราย ได้แก่
1. ศ.กิตติคุณ กำจร สุนพงษ์ศรี (จิตรกรรม)
2. นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ (จิตรกรรม-สื่อผสม)
3. นายประภากร วทานยกุล (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)
4. นายสำเริง แดงแนวน้อย (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้)

สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. นายเอนก นาวิกมูล
2. น.ส.อรสม สุทธิสาคร

สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 ราย ได้แก่
1. นายประทีป สุขโสภา (เพลงพื้นบ้าน)
2. นายประเมษฐ์ บุณยะชัย (นาฏศิลป์ -โขน )
3. นายปี๊ป คงลายทอง (ดนตรีไทย)
4. นางสุดา ชื่นบาน (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)
5. นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)
6. นายปง อัศวินิกุล (ผู้กำกับระบบเสียง-สร้างสรรค์และบันทึกเสียงภาพยนตร์)


รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ศิลปินทุกท่านที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และหลังจากนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะนำความกราบบังคมทูล เพื่อขอเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอรับพระราชทานเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนให้ศิลปินแห่งชาติเป็นผู้เผยแพร่องค์ความรู้ในแขนงต่างๆ ต่อสังคมด้วย



ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน การยกย่องศิลปินแห่งชาติ ทำให้เห็นบุคคลทรงคุณค่า ในแวดวงวัฒนธรรม และทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีศิลปินที่มีความสามารถในสาขาต่างๆ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เยาวชนของประเทศ



แม่เม้า-สุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ให้สัมภาษณ์ด้วยเสียงสั่นเครือว่า รู้สึกภูมิใจ ดีใจ ร้องไห้จนพูดไม่ออก ทั้งชีวิตได้อุทิศชีวิตเพื่อวงการบันเทิงทุกรูปแบบ ทั้งการแสดง การร้องเพลง ตนจบจากเฉลิมศาสน์นาฏศิลป์มาก็อยากจะทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อสังคม วงการบันเทิงให้เราได้มีงาน มีเงินใช้ มีชีวิตที่ดีจนถึงวันนี้ ต้องขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่เห็นคุณค่าของตน และให้ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติอันทรงเกียรติ และหากมีอะไรจะให้ช่วยเหลือสังคม หรือให้ความรู้ต่อเด็กและเยาวชน ต่อจากนี้ก็มีความยินดีสนับสนุนหากเวลาไม่ซ้อนกับงานประจำ



นางสาวอรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า รู้สึกยินดี อยากบอกว่า การเป็นศิลปินแห่งชาติสาขานี้ไม่ได้มีความหมายกับตนคนเดียวเท่านั้น แต่มีความหมายกับงานสารคดี ที่เรารัก และเราต่อสู้กับการงานสารคดีมานาน สำหรับรางวัลที่ได้ครั้งนี้จึงเป็นรางวัลของคนเขียนสารคดีทุกคน อยากบอกคนรุ่นใหม่ว่า งานสารคดี มีคุณค่า มีความหมายลึกซึ้ง อยากให้ร่วมกันสืบสานต่อไป



นายประเมษฐ์ บุณยะชัย สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า รู้สึกดีใจนึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาการแสดงโขนที่ทรงคุณค่านี้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การได้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานการแสดงโขนพระราชทาน ทำให้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ศาสตร์และศิลปะการแสดงโขนได้รับการฟื้นฟูกลับมาจนเป็นที่ประจักษ์แก่คนทุกวัย ทำให้ทุกคนที่ทำงานในวงการโขนได้มีกำลังใจทำงานอย่างเต็มกำลัง และทุกครั้งที่ท้อจะน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ ที่ว่า ขาดทุนของฉัน คือกำไรของแผ่นดิน



สิ่งที่พระองค์ทรงสืบสานคือคุณค่าทางจิตใจเป็นความภาคภูมิใจของตนและคนที่ทำงานด้านนี้ และมั่นใจการแสดงโขนจะไม่สูญหายไปจากประเทศไทย เพราะยังมีสถานศึกษา ชมรม และหน่วยงานต่างๆ ที่ยังยืนหยัดร่วมกันอนุรักษ์ต่อไป ส่วนตัวจะยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสืบสานการแสดงโขน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สั่งสมมาให้คนรุ่นหลังด้วยความเต็มใจ นับเป็นของขวัญวันเกิดวัย 73 ปี และการทำงานด้านโขนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา



นายเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าวว่า จากนี้ก็ยังเขียนงานสารคดีไม่หยุด เพราะต้องการถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม ตนเน้นเรื่องการชำระประวัติศาสตร์ นำความรู้และข้อมูลที่ตรวจสอบ แก้ไขได้มาเขียน ทั้งเพลงพื้นบ้าน ประวัติบุคคล จิตรกรรมไทย การแต่งกายแบบไทย เหตุการณ์ และสถานที่ นอกจากได้ชำระสิ่งที่ค้างคาใจตัวเอง ยังได้ชำระประวัติศาสตร์เพื่อให้สังคมได้ข้อมูลถูกต้องมากขึ้น



ขณะนี้เร่งชำระประวัติยายทองหล่อและยายทองอยู่ แม่เพลงพื้นบ้านที่มากความรู้ ก่อนหน้านี้ ชำระประวัติยายสำอาง เลิศถวิล วณิพกในเพลงคาราบาว ที่คนรู้จักกัน อยากให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนการจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเพื่อเผยแพร่ความรู้ต่อไป

 
 
 
 

 

 

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ