พระพยอม ตอบชัดการใส่บาตรออนไลน์ได้บุญหรือไม่

ดราม่าไลฟ์สดใส่บาตรออนไลน์ ด้านเจ้าของร้านหลั่งน้ำตาชี้แจง ไม่เคยเวียนขายซ้ำ เปิดโอกาสให้คนป่วยติดเตียง คนไทยในต่างประเทศทำบุญ ด้าน พระพยอม มองเป็นความก้าวหน้า แนะจะได้บุญต้องดูให้ครบองค์ประกอบ

 

 

 

จากกรณีโลกโซเชียลแชร์คลิปของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ไลฟ์เปิดให้คนซื้อชุดอาหารและดอกไม้ เพื่อนำไปใส่บาตรให้กับพระสงฆ์ พร้อมระบุว่า “มิติใหม่แห่งการตักบาตร โดยที่ไม่ต้องลุกจากที่นอน อยากใส่บาตรไม่ต้องไปถึงที่แล้วนะ ลูกค้าแค่โอนก็ได้ใส่บาตรแล้ว ไอเดียดีมาก ยุคนี้ใครไม่ปรับตัวอยู่ไม่รอดนะบอกเลย แล้วคือร้านขายดีจนสงสารพระรับของไม่ทัน” ซึ่งหลังคลิปนี่ถูกเผยแพร่ออกไปก็มีทั้งคนที่มองว่าเป็นเรื่องดีในการเปิดโอกาสให้คนทำบุญ ขณะที่บางส่วนก็รู้สึกว่าไม่เหมาะสมนั้น

 

 
ใส่บาตรออนไลน์

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 20 กันยายน 2565 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 รายงานว่า ร้านค้าดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ตลาดบางฆ้อง ถนนศรีสมุทร ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พบว่าร้านไลฟ์เปิดให้จองชุดใส่บาตรตั้งแต่ช่วงเวลา 05.30 – 07.00 น. ด้วยการเขียนชื่อ-สกุล คนที่ซื้อผ่านออนไลน์ใส่ไปในถุง และจะนิมนต์พระสงฆ์ที่เดินผ่านร้านเพื่อใส่บาตร และให้รับพรกันแบบสด ๆ โดยไม่มีการนำชุดใส่บาตรมาเวียนขายซ้ำ และพระสงฆ์ก็ไม่ได้ยืนปักหลักเพื่อรับบาตรที่หน้าร้านแต่อย่างใด

 

ด้าน นายวรพงศ์ อายุ 45 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงเฮียโก๋ เปิดเผยว่า ตนเปิดร้านขายข้าวแกงใส่บาตรที่ตลาดแห่งนี้มาเกือบ 9 ปี เมื่อเดือนที่แล้วขณะกำลังไลฟ์ ลูกค้าได้ถามว่าทำอะไร ตนจึงบอกว่ากำลังทำกับข้าวใส่บาตร ลูกค้าจึงขอฝากทำบุญด้วย เพราะต้องดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียง ไม่สามารถออกมาทำบุญได้ ตนมองว่าสิ่งนี้เป็นสะพานบุญให้คนอื่น และไม่ได้เลียนแบบแนวคิดจากใคร ทำด้วยใจซื่อบริสุทธิ์ ปัจจุบันใน 1 วันจะขายประมาณ 60 ชุด ราคาปกติชุดละ 40 บาท แต่ละชุดจะมีแกง 1 ถุง ข้าวสวย 1 ถุง ขนมหวาน และน้ำดื่ม

 

 
ใส่บาตรออนไลน์
 
 

กรณีที่โลกออนไลน์ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม ตนมองว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด ช่องทางของตนเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง คนที่ไม่มีเวลา และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนคนที่มองในแง่ร้าย เชื่อว่าสักวันเขาจะเข้าใจเอง เพราะตนทำด้วยใจซื่อบริสุทธิ์  ยอมรับว่าอ่านคอมเมนต์แล้วกระทบต่อจิตใจคนในครอบครัว คนชมก็มี คนด่าก็เยอะ ตนคงไปห้ามความคิดใครไม่ได้ บางวันที่ขายของไม่หมด ตนก็นำไปให้คนจร คนไร้บ้านในละแวกนี้เพื่อเป็นการทำทาน

            

ส่วนประเด็นพระที่มารับบาตร เป็นพระสงฆ์ที่เดินบิณฑบาตผ่านร้านทุกวัน วันละ 6-8 รูป เมื่อเดินผ่านมาตนก็จะนิมนต์ ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องใส่พระรูปไหน ท่านไม่ได้นั่งหรือยืนรอรับบาตรที่หน้าร้านอย่างที่โซเชียลตั้งข้อสังเกต และร้านตนไม่เคยนำชุดใส่บาตรมาวนขายใหม่ เพราะตนรู้ดีว่าทำแบบนั้นลูกค้าและตนย่อมไม่สบายใจ หลังจากที่กลายเป็นข่าว ยอมรับว่ามีผลกระทบ บางคนด่าแบบเสียหายทั้งที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง และพระสงฆ์ที่เคยมารับบาตรบางรูปไม่กล้าเดินผ่านร้าน เพราะกลัวชาวพุทธไม่สบายใจ

 

ใส่บาตรออนไลน์

 

พระพยอม มองเป็นความก้าวหน้ายุคสมัย หากคนทำมีจิตศรัทธาย่อมได้บุญ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระพยอม กลฺยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ต.บางเลน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ให้ความคิดเห็นว่า เป็นความเจริญก้าวหน้าของยุคสมัย บางคนจิตเป็นกุศลแต่ไม่มีเวลาไปทำบุญที่วัด บางคนอายุเยอะไม่มีใครพาไปก็ไม่ได้ไปใส่บาตร เพราะฉะนั้นโลกได้พัฒนาการขึ้น ก็ต้องไปตาม

            

ส่วนเรื่องได้บุญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพระว่าพระที่มาบิณฑบาตเป็นเนื้อนาบุญหรือไม่ และเงินที่ญาติโยมโอนมาให้แม่ค้าได้มาอย่างบริสุทธิ์หรือไม่ ถ้าทั้งสองล้วนบริสุทธิ์ทุกอย่างจะเกิดบุญ ส่วนวิธีการอาจจะได้ยินเสียงพระให้พรก็ได้ยินเสียงเช่นเดียวกันแค่ไม่ได้เห็นองค์ใกล้ ๆ มีการถ่ายทอดสดให้ดู ถึงเรียกว่าเป็นยุคสมัยใหม่ที่แท้จริง

 
 

ถ้าจะต้องยึดติดและทำแบบเดิมอาจจะไม่ได้ทำบุญ ถ้ามีโอกาสก็ควรทำ ให้สังเกตดูพระที่เป็นเนื้อนาบุญ ไม่ใช่พระที่วนเวียนอยู่บริเวณนั้นตลอด แม่ค้าต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่าไปใส่บาตรแต่องค์ที่ชอบหรือใส่บาตรกับพระที่เป็นญาติกัน ถ้าทำเป็นหัวเฉลี่ยได้จะเรียกว่าเป็นสงฆ์หมู่สงฆ์ ถือว่าจะได้บุญในเรื่องของการใส่บาตรออนไลน์ ถ้าไปยึดติดแบบเดิม การจะได้ทำบุญนั้นจากโอกาสจาก 10 จะเหลือเพียง 1 ถ้าเป็นการที่ดีที่สุดก็ต้องมาสัมผัสที่วัดวาอารามด้วยตนเอง จะต่างกับอยู่ที่บ้านและใส่บาตรออนไลน์ ญาติโยมสบายใจแบบไหนก็ย่อมทำได้เพื่อบำรุงพุทธศาสนา

           

ถ้าจิตของผู้ทำบุญเป็นกุศลและมีจิตศรัทธาบริจาค จะไม่ได้บุญได้อย่างไร เพราะการใส่บาตรมีการเอ่ยชื่อผู้ที่ร่วมทำบุญใส่บาตรทุกคน บุญจะอยู่ที่ปีติสุขใจ เพราะตัวเองได้สละการใส่บาตรทุกเช้าเป็นการแกล้งกิเลส เพราะเดี๋ยวนี้คนหลอกกันเยอะหาเวรหากรรมหากงหาเกวียน จึงแนะนำให้มาหาบุญหากุศลจะดีกว่า

 

 

 

ขอบคุณ kapook/ข่าวช่อง8/เรื่องเล่าเช้านี้