วิธีเลี้ยงไก่ไข่ตามเกษตรทฤษฎีใหม่

ไก่เป็นอีกหนึ่งสัตว์ที่เลี้ยงไว้บริโภค และยังเป็นรายได้เสริม จนถึงรายได้หลักให้เราได้ แล้วมือใหม่ที่ยังไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ ต้องศึกษา และทำความเข้าใจเรื่องใดบ้าง

 

 

ก่อนอื่นเลยต้องทราบก่อนว่า ไก่ที่เราต้องการจะเลี่ยงเป็นเป็นอะไร ไก่ไข่ หรือไก่บ้าน แต่สำหรับไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยงกันคือ ไก่ไข่ ซึ่งมี 3 สายพันธ์ที่นิยมเลี้ยง ดังนี้

 

 1. ไก่โรดไทย (Rhode Thai)

ไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ สามารถเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งเนื้อและไข่ ลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาล เปลือกไข่สีน้ำตาล ให้ไข่ฟองแรกได้เมื่ออายุประมาณ 168 วัน อัตราการให้ไข่ 94% ผลผลิตประมาณ 240 ฟองต่อตัวต่อปี 

          

2. ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ (DLD Layer Hen)

มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขนปีกสีน้ำตาล สร้อยคอสีน้ำตาลเข้ม หงอนจักรใหญ่สีแดงสด เหนียงสีแดงใหญ่ ตุ้มหูแดงมีสีขาวปนเล็กน้อย ผิวหนังและแข้งมีสีเหลือง ปลายหางมีสีดำ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุ 169 วัน ผลผลิตประมาณ 290 ฟองต่อตัวต่อปี 

          

3. ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร  (Single Comb White Leghorn)

เป็นไก่พันธุ์แท้ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนาดเล็ก ขนสีขาว เปลือกไข่สีขาว ไข่ดก ให้ไข่เร็ว เริ่มให้ไข่ได้เมื่ออายุ 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน ผลผลิตประมาณ 300 ฟองต่อตัวต่อปี 

 

วิธีเลี้ยงไก่ไข่

การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอิสระ 

การเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ออกมาจากโรงเรือนหรือภายนอกคอกได้อย่างอิสระ และได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เป็นวิธีเลี้ยงไก่ไข่ที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน เพราะจะทำให้ไก่อารมณ์ดี มีความสุข มีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นผลดีกับผลผลิตที่ได้ ซึ่งช่วยให้ไข่แดงมีสีเข้มนูนเด่น ไข่ขาวสีข้นชัดเจน เมื่อนำมาปรุงอาหารจะมีความหอมมัน รสชาติดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เหมาะกับการเลี้ยงไก่ไข่สายพันธุ์โรดไทย ไก่บาร์ไทย ไก่พลีมัธร็อกไทย และไก่ไข่กรมปศุสัตว์ เนื่องจากสามารถหาอาหารกินเองได้ตามธรรมชาติและทนต่อสภาพแวดล้อม สำหรับพื้นที่ในการเลี้ยงควรจัดให้อยู่ห่างจากที่พักอาศัย เช่น สวนหรือลานโล่งที่มีหญ้าปกคลุม โดยเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ปี และควรตรวจสอบคุณภาพดินว่าไม่มีสารเคมีหรือโลหะหนักปนเปื้อน อัตราพื้นที่หญ้า 5 ตารางเมตร ต่อไก่ไข่ 1 ตัว 

 

การเลี้ยงไก่ไข่แบบโรงเรือน 

โรงเรือนไก่ไข่ต้องมีความแข็งแรง ทนทาน ป้องกันลม กันแดด กันฝน รวมถึงสัตว์อื่น ๆ เช่น นก แมว หนู และสุนัขได้ ทำความสะอาดง่าย อยู่ห่างจากชุมชนเพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวน โครงสร้างควรเป็นคอนกรีต มีวัสดุรองพื้นคอก เช่น แกลบหนา 3-5 นิ้ว และควรมีรังไข่ 1 ช่อง ต่อแม่ไก่ 4 ตัว และประตูเข้า-ออก 2 ด้าน เพื่อหมุนเวียนปล่อยไก่ออกสู่แปลงอิสระ ทั้งนี้ หากมีโรงเรือนมากกว่า 1 หลัง แต่ละหลังควรเว้นระยะห่างกันมากกว่า 10 เมตร เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค 

 

การให้น้ำและอาหาร 

อาหารไก่ไข่มี 4 ชนิด คือ อาหารผสม หัวอาหาร อาหารอัดเม็ดหรืออาหารสำเร็จรูป และอาหารเสริม สำหรับการให้น้ำในไก่ไข่อายุ 5 เดือนขึ้นไป ควรให้น้ำประมาณครึ่งลิตรต่อวัน หากไก่ขาดน้ำในช่วงกำลังไข่ จะทำให้ไข่ฟองเล็ก น้ำที่ให้ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ใส่ในกระบอกหรือถังให้ไก่กิน 

 

ปัญหาและการป้องกัน 

ปัญหาการเลี้ยงไก่ไข่ที่ต้องระวังก็คือ โรคระบาดต่าง ๆ ที่มาจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เช่น โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ โรคอหิวาต์ไก่ และโรคฝีดาษไก่ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนตามอายุไก่และให้วัคซีนอย่างสม่ำเสมอ เพราะวัคซีนแต่ละชนิดมีระยะคุ้มกันโรคไม่เหมือนกัน 

 

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเลี้ยง ควรเริ่มจากปริมาณน้อยๆ ก่อน เพื่อให้เราทราบว่าไก่ที่เราเลี้ยงชอบ หรือไม่ชอบอะไร ต้นทุนอาหารเท่าไหร่ ต้องดูแลรักษาอย่างไร จึงจะเหมาะสม

 

ไข่, ส่วนผสม, เบเกอรี่, อาหาร, กล่องไข่, ดิบ, ห้องครัว

 

 

 

ขอบคุณ kapook.com