10 เรื่องเหลือเชื่อเกี่ยวกับหมึกยักษ์

หมึกยักษ์ ยิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ใต้ท้องทะเล ที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ ที่จะทำให้คุณอึ้ง และแปลกใจไม่น้อย

 

ปลา, ปลาหมึกยักษ์, น้ำ, พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, ตู้ปลา

 

หนังสือเสียงเรื่อง Other Minds: The Octopus And The Evolution Of Intelligent Life ของปีเตอร์ ก็อดฟรีย์-สมิธ นักดำน้ำลึกและนักปรัชญา ได้สำรวจเส้นทางวิวัฒนาการของหมึกยักษ์ที่น่าทึ่ง และนี่คือเรื่องเหลือเชื่อเพียงไม่กี่เรื่องที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดนี้

 

 

1. พวกมันฉลาดแต่เซลล์สมองส่วนใหญ่จริง ๆ แล้วอยู่ที่ “แขน” ของมัน

หมึกยักษ์มีระบบประสาทขนาดใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้ว หมึกยักษ์มีเซลล์ประสาทหรือเซลล์สมองราว 500 ล้านเซลล์ ถือว่ามีเซลล์สมองไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอย่างสุนัข แต่ที่ต่างไปจากสุนัข มนุษย์ และสัตว์อื่น ๆ คือ เซลล์ประสาทส่วนใหญ่ถูกพบที่ “แขน” (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า arms แต่คนไทยเรียก หนวด) ของหมึกยักษ์ คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของที่พบที่สมอง ปุ่มดูดแต่ละปุ่มบนหนวดของหมึกยักษ์อาจจะมีเซลล์ประสาทอยู่ 10,000 เซลล์ เพื่อใช้ในการรับรสและสัมผัส

 

2. หมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และมีทักษะในการจำ

การวิจัยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า หมึกยักษ์สามารถถูกฝึกและทำงานง่าย ๆ ได้ ในการทดลองหนึ่ง มีหมึกยักษ์ส่วนหนึ่งสามารถดึงคันชักเพื่อที่จะรับรางวัลเป็นปลาซาร์ดีน 1 ชิ้น หมึกยักษ์ยังเข้ารับการทดสอบด้านการมองเห็นด้วยการปิดตาข้างหนึ่งไว้ ซึ่งมันทำผลงานได้ดีกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ รวมถึงนกพิราบ

 

3. พวกมันซุกซนมาก

ในการทดลองดึงคันชักที่เอ่ยถึงข้างต้น มีหมึกยักษ์ 3 ตัวเข้าร่วมชื่อว่า อัลเบิร์ต, แบร์แทรม และชาร์ลส์ อัลเบิร์ตและแบร์แทรมทำผลงานได้คงเส้นคงวาที่สุด ส่วนชาร์ลส์ดื้อและทำคันชักหัก แต่นั่นยังไม่พอ ชาร์ลส์ยังพ่นน้ำใส่คนที่ทำการทดลองในวันนั้นด้วย มีรายงานเกี่ยวกับหมึกยักษ์ที่มีพฤติกรรมไม่น่ารักเช่นนี้ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหลายแห่ง รวมถึงแห่งหนึ่งที่หมึกยักษ์รู้วิธีการปิดไฟด้วยการพ่นน้ำใส่หลอดไฟและทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรตัดกระแสไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยโอทาโก (University of Otago) ในนิวซีแลนด์ เรื่องนี้ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากจนต้องปล่อยหมึกยักษ์กลับไปอยู่ตามธรรมชาติ

 

4. หมึกยักษ์จำคนได้

ในการทดลองเดียวกันนี้ในนิวซีแลนด์ซึ่งเกิดปัญหาหมึกยักษ์ทำไฟฟ้าดับ หมึกยักษ์ตัวหนึ่งไม่ชอบเจ้าหน้าที่ในการทดลองคนหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด เมื่อใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่คนนั้นผ่านมา เธอจะถูกหมึกยักษ์พ่นน้ำราวครึ่งแกลลอนใส่ที่ด้านหลังคอของเธอ

 

5. หมึกยักษ์ชอบเล่น

บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เมื่อเห็นความซุกซนของมันจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น แต่หมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่ขี้เล่นมาก ในการทดลอง เราพบว่าหมึกยักษ์บางตัวพ่นน้ำเป่าขวดบรรจุเม็ดยาที่อยู่รอบแท็งก์ โยนขวดไปมาบนน้ำที่ไหลออกจากวาล์วน้ำที่เปิดน้ำเข้าแท็งก์

 

ปลาหมึก, ปลาหมึกยักษ์, ถ้วยดูด, สัตว์, ธรรมชาติ

 

6. หมึกยักษ์ผสมพันธุ์กันทางหนวด

หมึกยักษ์หลายสายพันธุ์ คุณอาจบอกได้ว่า พวกมันเป็นตัวผู้หรือตัวเมียด้วยการดูว่า มีร่องอยู่ใต้หนวดที่สามของพวกมันหรือไม่ ถ้ามี นั่นคือตัวผู้ และพวกมันใช้หนวดนี้ในการผสมพันธุ์ สิ่งที่พวกมันทำคือ การยืดหนวดนั้นออกไปหาตัวเมีย และถ้าหมึกยักษ์ตัวเมียยอมรับ สเปิร์มก็จะผ่านไปตามด้านข้างหนวดปลาหมึก หมึกยักษ์ตัวเมียมักจะเก็บสเปิร์มไว้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะผสมมันกับไข่

 

7. ทักทาย “ไฮ-ไฟว์” กันด้วยแปะมือ

ขณะที่หมึกยักษ์กำลังเคลื่อนที่ บางครั้ง จะเห็นว่า มัน “สะบัด” หนวดหรือแขนใส่หมึกตัวอื่น ๆ ศาสตราจารย์สเตฟาน ลิงควิสต์ ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของหมึกยักษ์ เชื่อว่า ปฏิกิริรยาเหล่านี้คือการ “ไฮ-ไฟว์” ทักทายกัน ช่วยให้หมึกยักษ์จำกันได้

 

8. หมึกยักษ์มีหัวใจหลายดวง

หมึกยักษ์ตัวหนึ่งมีหัวใจ 3 ดวง หัวใจของมันจะสูบฉีดเลือดที่เป็นสีเขียวออกน้ำเงิน พวกมันใช้ทองแดงเป็นโมเลกุลในการจับออกซิเจน ต่างจากคนที่ใช้เหล็กซึ่งทำให้เลือดของคนเป็นสีแดง

 

9. พวกมันอาจจะน่ากลัวมาก

หมึกยักษ์อาจเปลี่ยนสีและลายได้ เมื่อหมึกยักษ์ตัวผู้กำลังจะโจมตีหมึกยักษ์อีกตัว มันมักจะเปลี่ยนสีเป็นสีดำ และพุ่งขึ้นมาจากก้นทะเล และแผ่หนวดออกเพื่อทำให้ตัวของมันดูใหญ่ขึ้น บางครั้ง มันจะยกเปลือกหุ้มของมัน ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ด้านหลังของตัวหมึกยักษ์ ขึ้นให้สูงกว่าหัว ท่าทางนี้มีชื่อเรียกว่า “นอสเฟอราตู” (Nosferatu) เพราะมีลักษณะคล้ายกับท่าทางของแวมไพร์

 

10. การที่หมึกยักษ์ไม่มีกะโหลกเป็นข้อได้เปรียบบางอย่าง

หมึกยักษ์สามารถบีบตัวเองเข้าไปในรูที่แคบขนาดลูกตาของมันได้ และสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้เกือบจะไม่มีข้อจำกัด การไม่มีกะโหลกศีรษะหรือกระดองไม่ใช่เรื่องปกติในสัตว์ที่มีขนาดและความซับซ้อนแบบหมึกยักษ์ คุณสมบัตินี้ทำให้พวกมันเสี่ยงต่อสัตว์นักล่า แต่ก็ทำให้พวกมันสามารถหลบซ่อนตัวได้ดีเช่นกัน

 

ธรรมชาติ, สัตว์ป่า, สัตว์, เขตร้อน, Immersed

 

 

 

ขอบคุณ ข่าวสด/บีบีซี เรดิโอ 4